♥.. เรารักกัน ..♥

ปล.ภาพสวยภาพนี้ จากน้าอ้นคะ

วันนี้พี่เข็ม ๓ขวบ กับ ๗ เดือน และน้องทูก็ หนึ่งขวบกับ๓เดือน ทั้งสองคนนี้เป็นพี่น้องกันมาปีกว่าแล้ว จากวินาทีแรกที่ได้เห็นกันที่โรงพยาบาล มีบทบาทมากมายที่ป่าปี๊กับม่ามี๊ส่งมอบให้กับคนตัวเล็กทั้ง๒คน ในแต่ละบทบาทตามเหตุการณ์ ซึ่งมักพบรอยยิ้มให้เราได้บ่อยครับ
...ท่านเคยนั่งดูเด็กๆ เขาทะเลาะกันไหมครับ?


















ครั้งหนึ่งเวลาที่เจ้าปลาทูแอบนั่งมองพี่เข็มเล่นของเล่น หรือเล่นโทรศัพท์อยู่อาการเขาจะ นิ่งๆ.. จ้องๆ... สังเกตพี่เข็มของเขาตลอดไม่วางตา และเมื่อใดก็ตามที่พี่เข็มเผลอ ไปให้ความสนใจกับเรื่องอื่นๆ หรือวางโทรศัพท์ลง ปลาทูก็จะย่องๆ แล้ว "ฉก" ของเล่นหรือโทรศัพท์ไป แล้วเขาจะวิ่งๆๆๆ ไปหลบที่มุมประจำตัว(comfort zone)ของเขาที่อยู่ข้างๆเตียงทันที จะเรียกเสียงฮามาก เพราะแค่เดินก็ยังไม่ค่อยมั่นเลย แต่พอเวลาต้องวิ่งกลับวิ่ง จู้ดๆๆ ได้

สำหรับเราคงไม่ได้มองเรื่องพวกนี้เป็นเรื่องใหญ่อะไรครับ กลับรู้สึกว่าเจ้าทูกำลังแสดงนิสัยจากสัญชาตญาณออกมาให้เราเห็น อันไหนสังคมรับไม่ได้เราก็ต้องปรับแก้กันไป ส่วนตัวบางครั้ง ผมนั่งมองเด็กๆเขาเล่นกัน การแสดงสัญชาตญาณบางอย่างก็น่ารัก แสบ และก็น่าตีเหมือนกันครับ แต่ผมมองว่ามันเป็นธรรมะนิดๆ ครับ คือว่าอะไรที่เราคิดว่าควบคุมได้ นั้นแท้จริงแล้วเราไม่เคยมีความสามารถควบคุมได้เลยครับ


มีเรื่องๆหนึ่งอยากเล่าให้ฟังครับ เจ้าปลาทู น้องเล็กประจำบ้านจะโตมากับการได้รับการเอาใจใส่ กลัวว่าจะเจ็บตัวตลอดเวลา จนบางทีผมว่าเจ้าปลาทูก็คงรู้สึกได้ว่าฉันเป็น somebody ซึ่งเห็นได้จากอาการแกล้งร้องไห้ เวลาถูกขัดใจเสมอ



สายๆ วันหยุดที่ผมอยู่บ้าน ผมมักขลุกอยู่กับเด็กๆ ตั้งแต่เขาตื่นนอนครับ เขาจะเล่นทุกสิ่งอย่าง โดยไม่ได้แคร์ กับอะไรทั้งสิ้น ซึ่งป่าปี๊ในฐานะ Life Guard ประจำบ้าน (เพราะคุณม่ามี๊ก็จะเป็นแม่ครัวทำอาหารให้เราไงครับ) ก็คงต้องทำหน้าที่อย่างสุดความสามารถนะครับ เพราะทั้ง she/he ไม่รู้จักคำว่า "เจ็บ" กันเลย ครั้น เราจะวิ่งไล่โอ๋ลูกเฝ้าติดตลอด เราก็เชื่อว่าเขาน่าจะโตมาเป็นเด็กที่ขาดความมั่นใจในตัวเองอย่างแน่นอน สำนวนที่ใช้เสมอในปัจจุบัน คือ "อยู่ห่างๆ อย่างห่วงๆ " ซึ่งถึงกระนั้นก็เถอะครับ ไม่วายเจ็บตัวได้ทุกจังหวะกันเลยทีเดียว


ภายหลังจากหมดมุขเล่นแล้ว (หมายถึงป่าปี๊หมดมุขนะครับ) ป่าปี๊ก็จะงัดมุขเด็ดออกมาใช้ คือ "สระว่ายน้ำ" ซึ่งก็ได้รับผลตอบรับดีทุกครั้ง เพราะพอเอาสระออกมาเป่า คนพี่ก็จะวิ่งๆ ไปแก้ผ้ามารอท่าก่อนเพื่อน ลืมเจ้าทูที่กำลังวิ่งไปอ้อนคนโน้นคนนี้ให้ถอดเสื้อผ้าให้ด้วย พอน้ำเต็ม Life guard ก็ยังคงต้องทำหน้าที่ต่ออยู่ใกล้ๆ นะครับ เพราะน้ำท่าไม่เข้าใครออกใคร

เด็กๆ ก็จะจัดเต็ม ของเล่น ตัวหนังสือโฟมลอยน้ำ มาปนลอยรวมกันอยู่ในน้ำเป็นเกาเหลาของเล่น ถึงแม้ของเล่นจะลอยเต็มสระน้ำเยอะปานใด แต่ของที่ฉันจะเล่น ก็จะเป็นชิ้นเดียวกันเสมอครับ ถึงจะไปเรียนจิตวิทยามาแล้วก็ไม่สามารถหานักคิดหรือทฤษฎีใดมาจับได้ จะมีการยื้อดึงกันจากทั้งสองปลา แล้วพอปลาทูเพลี่ยงพล้ำ น้องทูจะเอามืออีกข้าง ตบไปที่น้ำเพื่อให้น้ำเข้าตาพี่เข็ม กะว่าพี่เข็มจะได้ยอม ซึ่งพอเห็นน้องใช้วิธีนี้ เจ้าคนพี่ก็จะใช้ด้วย เอามือตบน้ำกันอย่างสนุก สถานการณ์กลับกลายเปลี่ยนเป็นไม่แย่งของเล่นแล้ว หันมาเล่นตบน้ำใส่กันอย่างสนุกสนาน นี่ผมกำลังเม้าท์เด็ก ๓ขวบกว่า กับเด็ก๑ขวบนิดๆ เล่นกันนะครับ


555+ มันเป็นของทูแย้ว เอิ๊กๆๆ


ในบางครั้งน้องทูเหมือนจะรู้ทั้งข้อจำกัด และข้อได้เปรียบของตัวเองอยู่บ้าง คือเขาจะใช้ข้อได้เปรียบการเป็นน้องเล็กที่จะ(แกล้ง)ร้องไห้เมื่อของที่ตัวเองอยากได้แล้วยังไม่ได้ แต่พี่เข็มเล่นอยู่ หรือในทางกลับกันพี่เข็มก็ร้องไห้(แกล้งซ้อน) เพราะปลาทูฉกของไปแล้ว และยังไม่ได้คืน ... กรณีแบบนี้ บ้านเรามีแนวการจัดการที่อาจต่างกันไปครับ คือ เราต้องใช้คติ "ความสนุกอยู่ที่ใคร ของเล่นนั้นน่าสนใจกว่าเสมอ" ดังนั้น ถ้ามีการแย่งของเล่นแล้วชิ้นไหนเป็นของพี่เข็ม แล้วต้องการแบ่งให้น้อง เราจะต้องคุยกับพี่เข็มว่า

ป่าปี๊ : "เข็ม ... ลองให้น้องถือไปก่อนลูก เดี๋ยวน้องก็เบื่อแล้ว ไม่เชื่อ ลองมาเล่นอันนี้กับป่าปี๊ดูซิ สนุกกว่า แล้วเดี๋ยวน้องก็จะ เอาของเล่นมาคืนพี่เข็มเอง..แหละ เชื่อป่าปี๊ดิ ^^


ตรงนี้เพราะเราเชื่อว่า คนที่เข้าใจเยอะสุด คือพี่เข็มครับ ซึ่งเราต้องแคร์ความรู้สึก
เขาก่อน เขารู้เรื่องที่สุดแล้ว ผมกับแม่ปลาไม่เลือกใช้วิธี "เออ.นะ ให้น้องไป

หลายท่านอ่านมาถึงตรงนี้ อาจกำลังนึกว่า ไม่นึกถึงหัวจิดหัวใจปลาทูบ้างเลยเหรอ
ซึ่งขอบอกว่าน้องทูจะรู้มุข และเข้าใจป่าปี๊ในไม่นานครับ อืม! .. มีุมุขหนึ่งครับ ที่เมื่อก่อนตอนไม่มีลูก ไม่เคยคิดเลยว่าจะใช้ได้หรือได้ผล มันคือมุข "จิ้งจก"













พอดีคุณพ่อตาผม หรืออาโน๊ะ(คุณตาในภาษามอญ) ท่านจะได้ช่วยเราดูแลเจ้าปลาทูในช่วงเช้าๆ ก่อนคุณป้าซึ่งเป็นผู้เลี้ยงมือหนึ่งมารับช่วง ท่านจึงสนิทกับหลานๆมาก ท่านจะมีมุขในการเล่นกันหลานๆ ทำให้หลานยิ้มได้ตลอด ไม่ว่าเวลาที่หลานจะโยเยร้องไห้ก็ตาม และหนึ่งในมุขที่ผมจำท่านมาใช้ คือมุข "จิ้งจก" ท่านจะชี้ชวนเจ้าปลาทูคุย ชี้ดูจิ้งจกที่ฝาบ้านเราตลอดตลอดทั้งมีจริงและไม่มีจริง

มุขนี้จะเลือกใช้เวลาที่เจ้าปลาทูเดินหกล้ม หรือหาเรื่องเจ็บตัวต่างๆ ให้กับตัวเองแล้วกำลังร้องไห้ ซึ่งแปลกมากครับ เจ้าทู ก็จะถูกเบี่ยงความสนใจจากที่กำลังเจ็บอยู่ไปออกเสียงตามอาโน๊ะทันที

ปลาทู : " จี้..โจะ! " (พูดตามอาโน๊ะ พร้อมหยุดร้อง)

ด้วยมุขนี้ "จิ้งจก" เลยกลายเป็นคำพูดแรกๆ ที่ปลาทูสามารถพูดได้ชัดเจน...ไปซะงั้นครับ!


ตอนเช้าก่อนพี่เข็มไปโรงเรียน จะจุ๊บน้องทูทุกวัน

วีรกรรมของสองพี่น้องคู่นี้ยังไม่จบนะครับ ในเวลาที่เขาร่วมมือกันเราก็จะเห็นความร่วมมือ การเข้าพวกกันซะจนน่าหยิก พี่เข็มจะเป็นแกนนำให้กับน้องในการเล่นพิเรนทร์ต่างๆ คำนี้จริงๆแล้วป่าปี๊ไม่อยากใช้เท่าไหร่ครับ แต่มันเกิดจากการที่พี่เข็มเล่นผาดโผน เสี่ยงหาเรื่องเจ็บตัวในตอนเด็กๆ แล้ว เรียกให้ป่าปี๊ม่ามี๊ดู เราก็จะบอกเขาว่า
"พี่เข็ม เล่นพิเรนทร์ จริงๆ ลูกนี่
"


ซึ่งจริงๆ แล้วป่าปี๊ม่ามี๊ต้องการสื่อสารให้เขารู้ว่ามันอันตรายเท่านั้นเอง แต่กลับเป็นว่า ตั้งแต่นั้นมาเวลาเขาเล่นอะไรผาดโผน เสี่ยงต่อการเจ็บตัว เช่น พี่เข็มมักชอบจะเอาเก้าอี้กับโต๊ะหลายๆ ตัวมาต่อกันเป็นสะพานไปถึงสไลเดอร์ แล้วเขาเดินค่อยๆข้ามโต๊ะแต่ละตัวไปจนถึงสไลเดอร์ แล้วสไลตัวเองลงมา... เขาจะบอกป่าปี๊ กับม่ามี๊ว่า
ปลาเข็ม : "ป่าปี๊ !! เข็มเล่นพิเรนทร์สำเร็จด้วยละ ป่าปี๊ ม่ามี๊"

ป่าปี๊ : ..เอาเข้าไป๊คุณลูก (^.^)


เหตุการณ์ตะลุมบอนม่ามี๊โดยหัวโจก..พี่เข็ม(ป่าปี๊บันทึกภาพ/รายงาน/จบข่าว)


















ตอนนี้ขอฝากไว้เท่านี้ก่อนนะครับ ตอนหน้าจะมาเล่าความแซ่บ!! ของลูกปลาทั้งสองตัวให้ฟังใหม่นะครับ ความสุขไม่อยู่ไหนไกล ไม่ต้องเดินทางไปไกล ความสุขมีอยู่ใกล้ๆเราเสมอนะครับ ความสุขที่ได้ยิ้มให้กันทุกวัน... ความสุขจากการที่มีขาน้อยๆ พาดหน้าป่าปี๊เวลานอน... หรือความสุขที่ได้อยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตากัน คงเป็นความสุขที่ป่าปี๊กับม่ามี๊ทยอยเก็บสะสมไว้ในความทรงจำ ให้นึกถึงพวกเขาเวลาโตขึ้น เำพราะเมื่อต่างคนต่างมีway ของตนเองตามหน้าที่ที่เขาจะเติบโตไปเป็น... ถึงตอนนั้น ป่าปี๊ กับม่ามี๊คงแอบเข้ามาอ่านบันทึกนี้ แล้วย้อนนึกถึงลูกปลาทั้งสองในวันเก่าๆ ในวัยไร้เดียงสา

ขอบคุณสำหรับหลายท่านที่ติดตามความเติบโตของลูกปลาทั้งสองนะครับ ...

ความคิดเห็น