นิทานกล่อมใจ


มีกลยุทธ์อันหนึ่งที่ได้รับคำแนะนำจากเพื่อนๆ และผู้ใหญ่หลายๆ ท่านว่า "นิทาน" นี่แหละจะเป็นสิ่งที่จะแทรกไปในจิตใจพื้นฐาน (Mind Set) ของเด็กๆ ได้เป็นอย่างดี ผมเลยลองนึกถึงตัวเองเมื่อยามเป็นเด็กว่า น่าจะจริง เพราะผมยังจำนิทานในวัยเด็กที่แม่เล่าให้ฟังก่อนนอนได้ตั้งหลายต่อหลายเรื่อง ซึ่งเคยคุยกับแม่หลายครั้ง แล้วแม่ลืมไปแล้ว แต่ผมยังจำได้ ..

ปลาเข็ม ในวัย ยังไม่ถึง ๒ ขวบ เริ่มสนใจนิทาน ตั้งแต่เขาเริ่มดูการ์ตูนเรื่องแรกในชีวิตของเขา คือ "สโนไวท์ กับคนแคระทั้งเจ็ด" แบบไม่พากษ์ไทย เขานั่งดูอยู่บนตักผม ในใจผมเชื่อว่าการ์ตูนเป็นภาษาสากล ไม่พากษ์ก็เข้าใจได้อยู่แล้ว

และเมื่อถึงตอนแม่มด ปรากฎตัว ในภาพเป็นยายแก่หน้าตาไม่เป็นมิตร เดินมา
ปลาเข็มหันมาบอกผม "ป่าปี๊ เข็มกลัว ! " ป่าปี๊! เปลี่ยนๆ ...

อันที่ทำผมประหลาดใจคือ ตอนที่ สโนไวท์ กัด แอปเปิ้ลแล้ว ล้มลง นก กระต่าย เก้ง กวาง ร้องไห้ กันลั่นป่า นั้น ปลาเข็มน้ำตาร่วง ร้องไห้ โห เลย ... เป็นสิ่งที่ผมรู้สึกได้เลยว่า มันอินไปในใจเขาแล้วจริงๆ

จากวันนั้น จนถึงวันนี้ กิจกรรมเล่านิทานก่อนนอนจึงเป็น กิจกรรมที่ผมเล่าให้เขาฟังก่อนนอนทุกวัน

แน่นอนครับ ... เล่าไป เล่ามา ย่อมหมดมุข หมดเรื่องจะเล่าแน่นอน แรกๆ ก็พยายามไปซื้อหนังสือมาอ่านเพิ่มฐานข้อมูลตนเองก่อน เพราะป่าปี๊ แรมต่ำ ความจำน้อย ^^

หลังๆ จึงใช้วิธีที่ ลองดูแล้วประสบความสำเร็จ (เฉพาะกับลูกสาวผมคนเดียวนะครับ) คือ ถ้าวันนั้นมีเรื่องอะไรที่เขาดื้อ หรือไม่เชื่อฟัง หรือทำตัวไม่น่ารัก เนื้อเรื่องก็จะมีแนวทางไปวนๆ แถวๆ สิ่งที่เขาทำไม่ดีแล้ว ปิดท้ายด้วยสิ่งน่ารักที่ปลาเข็มควรทำ .. PANTIP Toys

แรกๆ ของการเล่านิทาน คุณพ่อมือใหม่อย่างผมก็ เล่าได้บื้อ! ถื่อๆ มาก ไม่สนุก ตัวละครก็ไม่สอดคล้อง แต่เมื่อเล่าไปนานๆ ตัวละครจึงเริ่มตกผลึกอยู่ไม่กี่ต้ัว ผมมักจะเปิดไฟสลัวๆ แล้วคลุมโปงกันกับลูกและขึ้นเสียงให้ระทึกน่าติดตามด้วย "กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว......" ส่วนตัวคิดว่าไหนๆ มุขจะฝืดแล้วแต่ก็ขอให้ระทึกหน่อยจะดีกว่า ^^ หลังๆ ปลาเข็มก็ไม่ชอบให้เปลี่ยนตัวละครด้วย คือประมาณว่าถ้าเล่าเรื่องอื่นก็ไม่ฟัง จึงมีตัวละครหลัก คือ

๑. เจ้าชาย = เป็นตัวแทนแห่งความถูกต้อง ความดีเสมอ ห้ามเล่นบทร้าย
๒. เจ้าหญิง = เป็นบทบาทของความอ่อนโยน ใจดี ให้อภัย และเข้มแข็งช่วยเจ้าชายได้ด้วยในบางวันเมื่อผู้กำกับพลิกบทบาท
๓. มังกร = ตัวนี้เป็นสัตว์เลี้ยงวิเศษของเจ้าชาย แต่ถ้ามีหลายหัว ปั๊บ จะกลับข้างไปอยู่ข้างฝ่ายอธรรมโดยทันที
๔. ยายแม่มด = ตัวแทนของคนนิสัยไม่ดี มีเวทมนตร์ เสกให้เท้าหายไปได้ ถ้าไม่ใส่ถุงเท้านอน เสกให้ขาสองข้างหายไปได้ ถ้าห่มผ้าแม่มดจะมองไม่เห็นขา ก็จะปลอดภัย

มีช่วงหนึ่ง ไม่นานมานี่ ปลาเข็ม จะมีนิสัยไม่ดีคือ ชอบแย่งของจากมือคนอื่น เช่นโทรศัพท์ ..แย่งหนังสือของเขาที่คนอื่นอ่านอยู่ เราพยายามบอกเตือนเขาเรื่อยๆ แล้ว อาการก็ไม่สู้จะดีขึ้น ครั้นจะใช้บทหนัก ก็คงดูจะยังไม่อยากให้ถึงขนาดนั้น บังเอิญไปเดินเล่นแล้วเจอหนังสือเรื่องหนึ่งชื่อ " พูดขอดีๆ ก่อนซิ ซาร่า" อ่านเนื้อหาแล้วใช่เลย ที่อยากจะยกตัวอย่างใครสักคนที่ไม่ดีให้เขาเห็น "ซาร่า" นี่แหละอาจช่วยได้


จุดคล้ายแรกๆ ของซาร่า คือ เขาเป็นเด็กผู้หญิง เหมือนปลาเข็ม เป้าหมายของเรา ... ^^


เห็นภาพไหมครับ ... หมายังถูกซาร่าแย่งของเลย ^^ ตามต่อครับ หมายังทำหน้าเอือมระอาในซาร่าเลย ..



เก้าอี้ก้อ แย่ง หนังสือ ใครอ่านอยู่ก้อ แย่ง เอามาหมด .. ไคลแมก อยู่ตรงนี้ครับ



"พูดขอดีๆ ก่อนซิ ซาร่า" พอถึงจุดนี้ ผมก็ใส่สีเข้าไปและเพิ่มเรื่องการแย่งโทรศัพท์ด้วย ในหนังสือเล่มนี้ตอนท้ายๆ จะมีภาพที่คนรอบข้างซาร่า ทำสายตาประมาณว่า ไม่เล่นด้วยแล้ว ^^

การประยุกต์ใช้ จะนำไปบอกเจ้าเข็มเวลาที่เขามีพฤติกรรมแบบเดียวกับซาร่า คือ ป่าปี๊จะเรียกปลาเข็มว่า "ซาร่า" ซึ่งเขาดูไม่ชอบเอามากๆ เลยครับ สำเร็จ ^^

จากนั้นมา เวลาปลาเข็มเอาของจากมือใครโดยไม่ขอก่อน จะถูกเรียกซาร่า และวิธีแก้ไข คือ ต้องพูดคำว่า

"ปลาเข็ม ขอ..... นะคะ " พร้อมยกมือไหว้




จากนั้นการ์ตูนจึงค่อยๆ เข้ามามีบทบาทในการปรับพฤติกรรมปลาเข็มทีละน้อยจนถึงปัจจุบันครับ ^^ บางทีเขาก็จะทำกับเรากลับแบบเดียวกับที่ตัวละครในหนังสือทำ


ตัวละครทุกตัว ที่เราอ่านให้เขาฟัง ปลาเข็มจะจำได้ และบางวันอาจเป็นแขกรับเชิญ ในนิทานก่อนนอนเสมอ บางวันมิกกี้เม้าท์ ก็มาท่องคาถาม "มิสก้า มูสสะก้า" เพื่อจัดการ แม่มดใจร้าย ยกตัวอย่างเรื่องนึงครับ

เรื่อง โอมเพี้ยง ! เป็นคำที่ป่าปี๊ และปลาเข็มจะใช้ เวลาที่เราเห็นใครร้องไห้ เจ็บตัว ให้หายเจ็บไปเป็นปลิดทิ้ง ... เหตุการณ์คือ ผมเดินไปเตะขาเตียง นั่งเจ็บ อยู่ และเขาเห็น ปลาเข็มเดินเข้ามาหาแล้วถามป่าปี๊

"ป่าปี๊ เป็นอะ ราย ..." ปลาเข็มถาม

"ป่าปี๊ เจ็บ ป่าปี๊ เดินไปชนขาโต๊ะ ลูก เจ็บเลย " "หนูเดินระวังนะลูก " ^^

ปลาเข็มเดินมา จุ๊บๆ ที่ขาป่าปี๊ แล้วเงยหน้าขึ้นมา "โอม เพี้ยง!! นะป่าปี๊ "

ความคิดเห็น

  1. ถึงวันนี้เป็นวันแม่ อ่านบทความนี้แล้วก็อยากให้ยกตำแหน่งพ่อดีเด่นให้จังเลยค่ะ

    ตอบลบ

แสดงความคิดเห็น